top of page
เชิญ (0)_edited.jpg

Hello

ครูเชิญ

บิดาแห่งศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย

The Legacy of Dr.Chern sekorarit

          พ.ศ. 2511 ผมสอบข้ามฟากจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลับมหิดล (ฝั่งพระนคร) มาเรียนแพทย์ที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ฝั่งธนบุรี) ถือว่าโชคดี ผมได้มีโอกาสมาเรียนที่สถาบันแห่งนี้ เมื่อผมได้ขึ้นเรียนชั้นปี 3 ปี 4 (สมัยนี้ก็คือ ปี5 ปี 6) ตอนที่มาขึ้นวอร์ดที่ภาควิชาจักษุ โสตนาสิกลาริงซ์วิทยา ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ยินชื่อของอาจารย์เชิญ  เศขรฤทธิ์ เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่ได้พบตัวจริง ในสมัยนั้นภาควิชาจักษุ โสตนาสิกลาริงซ์ หรือ (ตา หู คอ จมูก) ยังเป็นภาควิชาเดียวกัน
          พ.ศ. 2513 ภาควิชาโสตฯ ได้แยกกับภาควิชาจักษุอย่างเป็นทางการ โดยมีอาจารย์พร  วราเวช เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรกของภาควิชาโสตฯ
          1 เมษายน 2516 ผมได้มีโอกาสพบอาจารย์เชิญเป็นครั้งแรก เมื่อผมมาเป็นแพทย์ประจำบ้านใช้ทุนให้กับทางราชการที่ภาควิชาโสตฯ เป็นเวลา 2 ปี ตามคำชักชวนของอาจารย์วัฒนะ  ฐิตะดิลก ซึ่งในปีนั้นเองเป็นปีที่อาจารย์เชิญขึ้นเป็นหัวหน้าภาควิชา ต่อจากอาจารย์พร  วราเวช สำหรับตัวผมเองนั้น ตั้งใจจะไปทำงานต่อที่ประเทศอเมริกา จึงจะขอใช้ทุนที่ภาควิชาโสตฯเพียง 2 ปี แต่ผมก็ไม่สามารถไปอเมริกาได้ เพราะสงครามเวียดนามยุติลง ทำให้อเมริกาไม่รับแพทย์จากต่างชาติอีกต่อไป ผมจึงทำงานต่อจนครบ 3 ปี แลพสอบวุฒิบัตรโสตนาสิกลาริงซ์วิทยาของแพทย์สภาได้ และด้วยความกรุณาของอาจารย์เชิญ ท่านได้รับผมไว้เป็นข้าราชการของภาควิชาโสตฯ เมื่อปี 2519

0.JPG

ป้ายแผ่นแรกที่ทำด้วยไม้กระดานติดตั้งหน้าสำนักงานภาควิชาโสตฯ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2520

          พ.ศ. 2522 อาจารย์เชิญ พยายามสนับสนุนให้ผมไปเรียนวิชาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า โดยให้ไปเรียนเป็น Fellow กับ นาวาอากาศเอกทายาท  สุขบำรุงยศ ที่โรงพยายาลภูมิพล ในขณะนั้นซึ่งผมได้ใช้เวลาอยู่กับอาจารย์ทายาทประมาณปีเศษ จึงกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช
          พ.ศ. 2525 อาจารย์เชิญได้เปิดหน่วยศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนวิชาใหม่นี้แก่แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด จึงนับได้ว่าคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชได้เริ่มมีการเรียนการสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในเอเชีย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
          อาจารย์เชิญได้ช่วยผลักดันและสนับสนุนหน่วยงานนี้ทุกด้าน ทั้งงบประมาณ การเงิน การค้นคว้า การพัฒนาการวิจัย การเรียนการสอน รวมทั้งการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ
          สมัยนั้นวิชาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้ามีการเรียนการสอนอยู่เพียงแห่งเดียวคือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์เชิญ ถือได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ไปเรียนวิชาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าจาก Dr. Jack Anderson, Clinical Professor of Otolaryngolofy at Tulane University, New Orleans, Louisiana ในปี 2501 - 2503
          หลังจากนั้นอาจารย์เชิญจึงกลับประเทศไทย และเริ่มรับราชการ ในตำแหน่ง อาจารย์ในภาควิชาโสตฯ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชเมื่อปี 2505 ซึ่งอาจารย์ได้ทำการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง เกี่ยวกับมะเร็งของกล่องเสียงและคอ ตลอดจนเนื้องอก Angiofibroma of Nasopharynx

1.JPG

น.ศ.พ. เชิญ  เศขรฤทธิ์
ถ่ายที่หอพักแพทย์ชายริมแม่น้ำเจ้าพระยา

2.JPG

แพทย์ประจำบ้าน
Tulane University, New Orleans, Louisiana

          ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของอาจารย์เชิญ และอาจารย์ทายาท ท่านทั้งสองได้มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะตั้งสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า จึงได้มอบหมายให้ผม, นายแพทย์ภาคภูมิ  สุปิยพันธุ์, นายแพทย์มานพ  จิตต์จรัส, นายแพทย์นรินทร์  อินทะสะมะกุล, นายแพทย์สรัลชัย  เกียรติสุระยานนท์ และ นายแพทย์พิชัย  พัวเพิ่มพูลศิริ ดำเนินการจัดตั้งจดทะเบียนสมาคม ซึ่งกว่าจะสำเร็จใช้เวลา 4 ปี ในปี2532 จึงได้รับอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยเป็นสมาคมที่ลงท้ายด้วยคำว่า "แห่งประเทศไทย" ซึ่งหมายถึงเป็นสมาคมที่เป็นตัวแทนระดับชาติ
          พ.ศ. 2534 ได้เริ่มมีการประชุมวิชาการเป็นครั้งแรกที่โรงแรมมณเฑียร ร่วมกับสมาคมผิวหนัง โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์พิชิต  สุวรรณประกร, อาจารย์อภิชาติ  ศิวยาธร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Dermatosurgery

3.JPG
4.JPG

อาจารย์เชิญกล่าวเปิดงาน
สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2534

5.JPG

อาจารย์พิชิต  สุวรรณประกร

6.JPG

อาจารย์อภิชาติ  ศิวยาธร

          พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดประชุมวิชาการครั้งที่ 2 ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมเอเชีย เรื่อง Blepharoplasty โดยมีวิทยากรร่วมกันระหว่างจักษุแพทย์ แพทย์ผิวหนัง แพทย์หู คอ จมูก และได้เชิญศัลยแพทย์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากรร่วมด้วย และมีอาจารย์ประโมทย์  ทุมวิภาค, อาจารย์ปรีชา  วัฒนวิจารณ์, อาจารย์สกาวรัตน์  คุณาวิศรุต และอาจารย์จวงจันทร์  ชันชื่อ เป็นผู้สนับสนุน

7.JPG
8.JPG

ประชุมวิชาการ เรื่องBlephaoplasty โรงแรมเอเชีย พ.ศ. 2535

          ปี 2546 มีการขอตั้ง "อนุสาขาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า" หรือ Sub-board of Facial Plastic Surgery ภายใต้การกำกับดูแลของแพทยสภา และราชวิทยาลัยโสต ศ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ซึ่งนายแพทย์ภาคภูมิ  สุปิยพันธุ์ เป็นเลขาธิการ ราชวิทยาลัยโสตฯในขณะนั้น

9.JPG

อนุมตับัตรอนุสาขาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า

          ในด้านวิชาการระหว่างประเทศนั้นอาจารย์เชิญ  ได้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าประเทศไทยให้เจริญเติบโตเรื่อยมา จนในปี 2546 สมาชิกของสมาคมได้เริ่มออกไปบรรยายวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

          ในปี 2548 ได้มีการก่อตั้ง ASEAN Academy of Facial Plastic Surgery โดยกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสมาชิกและได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประชุมวิชาการทุกสองปีร่วมกับ ASEAN ORL จึงทำให้วิชาการด้านศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลให้สมาชิกของสมาคมได้รับเชิญไปบรรยายเกือบทั่วโลกเช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ เยอรมนี อิตาลี โปรตุเกส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเก๊า เป็นต้น

          ต่อมาได้มีการร่วมมือกับประเทศแคนาดา และกลุ่มประเทศยุโรป ก่อตั้ง Pan-Asia Academy of Facial Plastic Surgery เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าของตะวันออกและตะวันตก
         

          ทั้งหมดที่กล่าวมาคือคุณูปการจากอาจารย์เชิญ ครูของเรา ครูให้กำเนิดวิชานี้แก่วงการแพทย์ไทย จึงกล่าวได้ว่า ท่านคือ "บิดาของศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย" อย่างแท้จริง

          สำหรับความสัมพันธ์ส่วนตัวของผม และอาจารย์เชิญนั้น ผมรับรู้ และรู้สึกได้ว่าท่านมีจิตเมตตา ท่านเป็นครูผู้มีแต่ให้ ไม่เคยขออะไรจากลูกศิษย์ ที่สำคัญที่สุดท่านไม่เคยตำหนิ หรือว่าให้ใครเสียหายแม้แต่ครั้งเดียว กล่าวกันว่า หากใครถูกอาจารย์เชิญตำหนิ ถือว่าผู้นั้น เป็นผู้ที่โชคร้ายที่สุดในชีวิต ดังนั้นความเป็นครูที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีตลอดมา จึงทำให้ลูกศิษย์ของอาจารย์ทุกท่านเป็นคนดีตามอาจารย์เชิญโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ ในสายศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานเกือบทุกคนบางท่านเป็นถึงปลัดกระทรวง บางท่านเป็นอธิบดี บางท่านเป็นคณบดี บางท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทษไทย บางท่านเป็นกรรมการแพทยสภา

          ท้ายที่สุดนี้ผมขอน้อมกราบครูเชิญ ด้วยกายวาจาใจ ด้วยความเคารพรัก ท่านเป็นผู้มีพระคุณที่ให้ชีวิตใหม่แก่ผม และลูกศิษย์สายศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ให้ได้ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองในชีวิต และมีหน้าที่การงาน ซึ่งพวกเราทุกคนตั้งจิตปณิธานจะดำเนินชีวิตตามแบบอย่างที่ดีของท่าน

ครูเชิญ....
ท่านที่ได้มอบ "มรดก" ทางวิชาการสาขาใหม่แก่ศิริราชและวงการแพทย์ไทย

ควรแก่การยกย่องให้เป็น "บิดาของศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย"

 

นพ. ชลธิศ  สินรัชตานันท์

bottom of page